หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 5


รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2562

       เรื่อง รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2562 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศ คู่ค้า (Notorious Markets)

       คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2562 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

      1. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายสิทธิบัตรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

      2. ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

     3. ในส่วนของรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2561 ที่ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง คือ ย่านพัฒน์พงษ์ และ www.shopee.co.th ให้กระทรวงพาณิชย์ประสานหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดดังกล่าวต่อไป

 

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative : USTR) ได้จัดสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสำคัญภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) เป็นประจำทุกปี โดยประกาศผลการจัดสถานะในช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ ในการจัดสถานะดังกล่าวมีการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพยสินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ด้วย

2. หลังจากที่ไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List : PWL) มากว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 USTR ได้เปิดการทบทวนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญหาของไทยนอกรอบ (Out-of-Cycle Review : OCR) และได้ปรับสถานะของไทยให้ดีขึ้นจากบัญชี PWL เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มกราคม 2561) รับทราบ] และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 USTR ได้ประกาศรายชื่อ Notorious Markets ประจำปี 2560 โดยไม่ปรากฏชื่อย่านการค้าหรือศูนย์การค้าในประเทศไทยเป็น Notorious Markets แม้แต่แห่งเดียว [คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 กุมภาพันธ์ 2561) รับทราบ]

3. ในปี 2562 USTR ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้าจากผู้มีส่วนได้เสีย และประเทศที่ได้รับการประเมิน ซึ่ง พณ. ได้จัดทำความคิดเห็นประกอบด้วยข้อมูลความคืบหน้าและสถานะการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญตามแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) และได้ยื่นต่อสำนักงาน USTR แล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

4. สถานะของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นของสหรัฐฯ

4.1 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 USTR ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี 2562 โดยไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชี WL ร่วมกับประเทศอื่นอีก 24 ประเทศ ได้แก่ บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกันรีพับลิค เอกวาดอร์ อียิปต์ กรีซ กัวเตมาลา จาเมกา เลบานอน เม็กซิโก ปากีสถาน ปารากวัย เปรู โรมาเนีย สมาพันธรัฐสวิส ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุสเบกิสถาน และเวียดนาม (สำหรับประเทศที่อยู่ในบัญชี PWL มีจำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ อัลจีเรีย อาร์เจนตินา ชิลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ยูเครน และเวเนซุเอลา)

4.2 ในส่วนของรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2561 ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง เป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒนพงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ www.shopee.co.th

5. พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทย สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ ดังนี้

5.1 ระดับนโยบายสูงสุดของรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทำให้การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตด้วย

5.2 การแก้ไขปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยมีการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และการเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5.3 ไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ

5.4 มีการเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีความ ตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ

6. ข้อกังวล/ข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ

6.1 ยังคงมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การขโมยสัญญาณเคเบิลและดาวเทียม การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับมอบอำนาจ และ การดำเนินคดีทางแพ่งที่ใช้เวลานาน และค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับไม่สมเหตุสมผล

6.2 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2558 ในบางเรื่อง เช่น การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures : TPM) และการลักลอบบันทึก ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ (Camcording) ยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ

6.3 ยังคงมีปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา

6.4 ควรมีการป้องกันการนำผลข้อมูลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรมหรือการเปิดเผยข้อมูลฯ ที่เป็นความลับอย่างมีประสิทธิภาพ

6.5 ควรมีความโปร่งใสโดยให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสาธารณสุข

7. พณ. เห็นว่า เนื่องจากการจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ รวมถึงรายงาน Notorious Markets มีผลต่อภาพลักษณ์ด้านการค้าและการลงทุนของประเทศ ประกอบกับข้อกังวลและข้อเสนอแนะที่ระบุในรายงานของ USTR มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมกันดำเนินการต่อไป และแม้ว่าการจัดสถานะประจำปีนี้มีผลเป็นที่น่าพอใจแต่ในการรักษาสถานะของไทยไว้ในบัญชี WL หรือผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ควรมีการพัฒนาระบบการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนการส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดนโยบาย และมาตรการด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ

    ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 พฤษภาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!