หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS4


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน'บ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป' ที่ 'A+' แนวโน้ม 'Stable'

     ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ'A+' โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกจำกัดโดยความเสี่ยงในหลายด้านของอุตสาหกรรมอันได้แก่ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ภาระหนี้ลดลงช้า

         การเติบโตที่ช้าลงของระดับกำไรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อแผนการลดภาระหนี้ของบริษัท บริษัทมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมากจากการกู้เงินเพื่อลงทุนในกิจการ Red Lobster ในปี 2559 ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 2.0 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแผนการลดภาระหนี้ของบริษัทถูกลดทอนโดยผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงจากภาวะความผันผวนของราคาปลาทูน่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากคดีความ ตลอดจนผลการดำเนินงานของ Red Lobster ที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 จากระดับ 6.8 หมื่นล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 6-7 เท่าในช่วงปี 2559 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จากระดับ 3-5 เท่าในปี 2556-2558

       อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงตามผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นและค่าใช้จ่ายเงินลงทุนที่ลดลง นอกจากนี้ บริษัทมีแผนปรับปรุงสถานะการเงินโดยจะนำ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมอลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 โดยภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ บริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TFM ลดลงจาก 66.9% มาอยู่ที่ 51% และบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการจดทะเบียนในตลาดฯ บางส่วนมาใช้ในการชำระหนี้ของบริษัท

เป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกและมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่หลากหลาย

     บริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 0.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องทั่วโลก บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก นอกเหนือจากปลาทูน่าแล้ว สินค้าอาหารทะเลของบริษัทยังประกอบไปด้วย กุ้ง ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอร์เรลด้วย

      การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่เหนือกว่าผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งนี้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการใช้ผลผลิตพลอยได้ เช่น การนำ ก้าง หนังปลา และน้ำมันปลา มาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารกุ้ง และน้ำมันปลาทูน่าคุณภาพสูง

      ในปี 2561 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีสัดส่วนมากที่สุดในยอดขายของบริษัทโดยคิดเป็น 36% ของยอดขายรวม รองลงมาคือกุ้งแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (28%) ปลาแซลมอน (8%) อาหารสัตว์เลี้ยง (8%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล (7%) และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและอื่น ๆ (13%)

 

การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์

        การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ทั้งในด้านฐานการผลิตและแหล่งรายได้ช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทลงได้บางส่วน บริษัทมีฐานการผลิตกระจายตัวอยู่ใน 13 ประเทศซึ่งครอบคลุม 4 ทวีป บริษัทยังมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ด้วยเช่นกัน โดยรายได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 38% ของรายได้รวมในปี 2561 รองลงมาคือตลาดยุโรป 31% ประเทศไทย 11% และประเทศญี่ปุ่น 6% ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า และกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกได้ในระดับหนึ่ง

 

สถานะที่แข็งแกร่งในทวีปยุโรปและตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในประเทศสหรัฐอเมริกา

      บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา Thai Union Europe (TUE) เดิมชื่อ MW Brands SAS เป็นเจ้าของตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในยุโรปจำนวนมาก ได้แก่ John West, Petit Navire, Mareblu และ Parmentier ปัจจุบัน John West มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักร ประเทศไอร์แลนด์ และประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนในด้านของยอดขายนั้น ในปี 2561 John West มีส่วนแบ่งทางการตลาด 37% ในสหราชอาณาจักร 66% ในประเทศไอร์แลนด์ และ 30% ในประเทศเนเธอร์แลนด์ อ้างอิงจากข้อมูลของ AC Neilsen ที่ทริสเรทติ้งได้รับจากผู้บริหารของ TUE นอกจากนี้ Petit Navire ยังเป็นอีกหนึ่งตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 46% ในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

       ในประเทศสหรัฐอเมริกา Chicken of the Sea เป็นปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 10% ในด้านของยอดขายปี 2561 อ้างอิงจากข้อมูลของ IRI report ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากฐานข้อมูลเดิมของ AC Neilsen ที่ทริสเรทติ้งได้รับจากผู้บริหารของ Thai Union North America ในขณะที่ Starkist เป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุด (48%) รองลงมาคือ Bumble Bee (24%)

 

ค่าใช้จ่ายพิเศษส่งผลให้กำไรของบริษัทอ่อนแอลง

    แม้ว่า อัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้น แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากค่าใช้จ่ายพิเศษจากการชดเชยในคดีความในประเทศสหรัฐอเมริกา

       อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทอยู่ที่ระดับ 13%-16% ขึ้นอยู่กับต้นทุนราคาวัตถุดิบ สภาวะการแข่งขันและอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำมากในช่วงต้นปี 2561 และค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ตลอดจนครึ่งแรกของปี 2562 อัตรากำไรที่ฟื้นตัวดีขึ้นมีสาเหตุจากต้นทุนที่ลดลงของปลาทูน่าและกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท ตลอดจนการปรับราคาผลิตภัณฑ์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

        อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายพิเศษ ทั้งนี้ บริษัทย่อยของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตกลงจ่ายชำระค่าชดเชยให้แก่กลุ่มร้านค้าปลีก และลูกค้าหลายรายในสหรัฐอเมริกาภายใต้คดีต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) บริษัทได้มีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษเป็นมูลค่า 44.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 พันล้านบาท) ในปี 2561 และตั้งสำรองเพิ่มเติมมูลค่า 60.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.9 พันล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเหลือ 5.7% ในปี 2561 จนถึงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับระดับ 7%-9% ในปี 2557-2560 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอยู่ที่ระดับ 9.8 พันล้านบาทในปี 2561 และ 4.1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับระดับประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2557-2560

        อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบเพิ่มเติมของรายการค่าใช้จ่ายพิเศษจะอยู่ในระดับที่ลดลง เนื่องจากบริษัทได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษภายใต้คดีต่อต้านการผูกขาดไปแล้วในระดับที่สูง ผลการดำเนินงานของบริษัทควรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การควบคุมต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต

      ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2561 ในกรณีไม่มีการซื้อกิจการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 7%-8% ในปี 2562-2565 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 9.8 พันล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับ 5.6 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

 

สภาพคล่องเพียงพอ

        บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ในช่วง 24 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5-6.0 พันล้านบาทต่อปี แหล่งที่มาหลักของเงินทุนในการชำระหนี้มาจากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปีละ 8.0-9.0 พันล้านบาท นอกจากนี้ สภาพคล่องยังมาจากเงินสดประมาณ 1.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ตลอดจนวงเงินคงเหลือที่บริษัทมีกับสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่ง

 

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

•             รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทคาดว่าจะลดลง 2% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565

•             อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วง 15%-16% ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8%

•             ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

     แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ'คงที่' สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและการมีประสิทธิภาพในการผลิต

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

      อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมากหรือมีการลงทุนขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดส่วนเกินเพื่อรองรับการชำระหนี้อ่อนแอลงกว่าที่คาด

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU)

อันดับเครดิตองค์กร:        A+

 

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TU201A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

TU212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

TU217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

TU217B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

TU221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

TU237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

TU241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TU242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

TU271A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต:      Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

           ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

         บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

        ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!