ขออนุมัติขยายระยะเวลาและขยายกรอบวงเงินโครงการ โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการและเพิ่มกรอบวงเงิน โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิม 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 - พ.ศ. 2566) วงเงิน 21,000,000,000 บาท เป็น 8 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 - พ.ศ. 2569) วงเงิน 25,400,000,000 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
อนึ่ง เพื่อให้การดําเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ เห็นสมควรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานจะเร่งรัดดําเนินโครงการ ให้เป็นไปตามแผนงานที่กําหนดไว้ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ ตลอดจนประโยชน์และความคุ้มค่าที่ประชาชนจะได้รับเป็นสําคัญด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการและเพิ่มกรอบวงเงินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย กษ. แจ้งว่า สาเหตุที่ต้องมีการขอขยายระยะเวลาและเพิ่มกรอบวงเงินโครงการคลองระบายน้ำฯ เนื่องจาก
ข้อเสนอ |
สาเหตุ |
|
1) ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจากเดิม 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2566) เป็น 8 ปี (ปีงประมาณ พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2569) |
- การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้างเครื่องจักร - เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้ ทำให้งานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ |
|
2) เพิ่มกรอบวงเงิน จากเดิม 21,000 ล้านบาท (มติคณะรัฐมนตรี 8 มกราคม 2562) เป็น 25,400 ล้านบาท |
- การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแบบก่อสร้าง - การเพิ่มองค์ประกอบโครงการ เช่น งานก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง งานก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองระบายน้ำหลาก เป็นต้น - ราคาวัสดุก่อสร้าง และอัตราราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น |
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติขยายกรอบวงเงินและระยะเวลาดําเนินการโครงการคลองระบายน้ำฯ แล้ว จะทําให้การก่อสร้างโครงการสามารถดําเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กําหนด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น
1. ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทย
2. เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตรในอําเภอพระนครศรีอยุธยา อําเภอบางบาล อําเภอบางไทร อําเภอบางปะอิน อําเภอผักไห่ และอําเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอําเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง 229,138 ไร่
3. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค (ความจุคลอง 65 ล้านลูกบาศก์เมตร) ครอบคลุมพื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งคลองระบายน้ำหลาก พื้นที่ 48 ตําบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน
4. ถนนบนคันคลองระบายน้ำหลากทั้ง 2 ฝั่ง ใช้เป็นเส้นทางคมนาคม เชื่อมโยงระหว่างอําเภอบางบาลและอําเภอบางไทรทําให้การเดินทางสะดวกขึ้นในด้านโลจิสติกส์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 1 ตุลาคม 2567
1070