หมวดหมู่: งานวิจัยเศรษฐกิจ

5772 KT Compass


Green Finance เครื่องมือยกระดับภาคเกษตรและอาหารไทย สู่ความยั่งยืนด้วยแนวคิด G-R-E-E-N

โดย กฤชนนท์ จินดาวงศ์, ปราโมทย์ วัฒนานุสาร

Krungthai COMPASS

 

Key Highlights

          ● Green Finance หรือการเงินสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในช่วงนี้ ขณะที่ภาคเกษตร

          ● และอาหารทั่วโลกซึ่งมีการปลดปล่อยมลพิษจากการดำเนินกิจกรรมอยู่ในลำดับต้นๆ กลับมีระดับ Green Finance ที่ยังต่ำ โดยหากเทียบเม็ดเงินต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรและอาหารอยู่ที่เพียง 3.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่ำกว่าภาพรวมทุกธุรกิจทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 17.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่คาดว่าในปี 2568-2573 ความต้องการ Green Finance ในภาเกษตรและอาหารจะเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่า Climate Finance ซึ่งเป็น Subset หนึ่งของ Green Finance ที่คาดจะสูงกว่าระดับมูลค่าในช่วงก่อนเกิด COVID-19 ราว 7-44 เท่า 

          ● Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารจะเป็น Key enabler ที่ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหา Climate Change รับมือกับปัญหาความเปราะบางของภาคเกษตรไทย ขณะที่สถาบันการเงินในต่างประเทศและไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัวในเรื่อง Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารมากขึ้น

          ● Krungthai COMPASS แนะนำ หากไทยจะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมควรใช้แนวคิด GREEN คือ G-Government-ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการผลักดัน R-Reward-การสร้างแรงจูงใจในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน E-Educate-เร่งสร้างองค์ความรู้ด้านการเงินที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม E-Engage-การกำหนดเป้าหมายที่วัดได้อย่างชัดเจนร่วมกัน และ N-Network-สร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

 

          ปัจจุบันภาคเกษตรและอาหารไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงจากปัญหา Climate Change เนื่องจากภาคเกษตรและอาหารไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนสูงถึง 26% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านผลิตภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อยและถูกจัดเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้เกษตรกรไทยปรับตัวได้อย่างจำกัดและยากต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสําหรับการปรับตัวและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน 

          ขณะที่ในปัจจุบันมี Climate Technology หลากหลายที่พัฒนาให้สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ แต่เรามองว่าอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหา Climate Change ในภาคเกษตร และผลักดันให้เกิดการปรับใช้ Climate Technology ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น คือ การเงินสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Green Finance) โดยสถาบันการเงินจะเป็นตัวกลางที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนผ่านการทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทางการเงินจากผู้ออมเงินไปยังผู้กู้ที่ต้องการใช้เงินทุน[1] ดังนั้น ในบทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักกับ Green Finance ว่าคืออะไร และมีความสำคัญกับภาคเกษตรและอาหารอย่างไร?

 

          Green Finance คืออะไร?

          Green Finance คือ การจัดสรรเงินทุนเพื่อวัตถุ-ประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายช่วยส่งเสริมและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น การจัดหาเงินทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ภาคส่วนต่างๆ การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว รวมทั้งการจัดหาเงินทุนสำหรับเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน[2]

          Green Finance เป็นหนึ่งใน Subset ของ Sustainable Finance โดยมีตัวอย่างหมวดย่อยใน Green Finance ได้แก่ Climate Finance, Conservation Finance และ Biodiversity Finance ซึ่ง Climate Finance มีวัตถุประสงค์สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) เช่น การใช้พลังงานทางเลือก การประหยัดพลังงานภายในอาคาร หรือสำหรับการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงหรือลดความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) เช่น การลงทุนในการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้ง ส่วน Conservation Finance มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เช่น การจัดหาเงินทุนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง Biodiversity Finance มีวัตถุประสงค์สำหรับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การดูแลพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศ 

 

5772 KT Compass01

 

5772 KT Compass02

 

          Green Finance ในภาคเกษตรเติบโตแค่ไหน?

          Green Finance ในภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับ Sector อื่น โดยหากพิจารณาเทียบเคียงกับมูลค่า Climate Finance ซึ่งจัดเป็น Subset สำคัญของ Green Finance ในปี 2562/2563 ของธุรกิจเกษตรและอาหารทั่วโลก พบว่าอยู่ที่ 28.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียง 4.3% ของมูลค่า Climate Finance ทั้งหมดที่อยู่ที่ 660.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้นมูลค่า Climate Finance ของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารรายย่อยมีอยู่เพียง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.8% ของมูลค่า Climate Finance ทั้งหมด 

          เช่นเดียวกับอัตราส่วนเม็ดเงินเพื่อการลงทุน Climate Finance ของภาคเกษตรและอาหาร ต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรและอาหาร ในปี 2562 พบว่ายังอยู่ในระดับต่ำที่เพียง 3.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรและอาหารซึ่งอยู่ที่ 8,148 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ซึ่งยังต่ำกว่าสัดส่วนมูลค่า Climate Finance ทั้งหมดทั่วโลกต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกซึ่งอยู่ที่ 17.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอยู่ที่ 37,040 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)

 

5772 KT Compass03

 

          ขณะที่งานวิจัยต่างประเทศ ชี้ว่า ความต้องการของ Climate Finance ในธุรกิจเกษตรและอาหาร อยู่ที่ราว 212-1,267 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี ในช่วงปี 2562-2573 หรือสูงถึง 7-44 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนใน Climate Finance ของธุรกิจเกษตรและอาหาร ในปี 2562/63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ 28.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในปี 2564 ความต้องการของ Climate Finance ในภาคเกษตรและอาหารลดลงราว 12%YoY ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่มีการลงนามความตกลงปารีสในปี 2559 สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ส่งผลให้หลายประเทศหันไปให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อาจลดส่วนแบ่งการจัดสรรเงินทุนให้กับ Climate Finance ในระดับโลกเป็นการชั่วคราว

 

5772 KT Compass04

 

          Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารของไทยเติบโตแค่ไหน?

          สำหรับ Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารของไทยยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ สอดคล้องกับภาคเกษตรและอาหารของโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า สัดส่วนมูลค่า Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารของไทย 3 ปี ย้อนหลัง (ปี 2564-2566) อยู่ที่เพียง 0.3% ของมูลค่า Green Finance ทั้งหมดของไทย ซึ่งสอดคล้องกับ Climate Finance ในภาคเกษตรและอาหารของโลก ในปี 2562/2563 พบว่าอยู่ที่ 28.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียง 4.3% ของมูลค่า Climate Finance ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังมีโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนของ Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารของไทยให้สูงขึ้นได้ 

 

          ทำไม Green Finance จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหา Climate Change ในภาคเกษตรและอาหาร?

          1) ภาคเกษตรไทยมีความเปราะบางจากปัญหา Climate Risk โดยที่ผ่านมาภาคเกษตรนับว่าเป็น Sector ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ชัดเจนกว่า Sector อื่น เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด เมื่อเทียบกับ Sector อื่นๆ โดยภาคเกษตรใช้น้ำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 77% ของการใช้น้ำในแต่ละปีของไทย ทั้งนี้ ภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัวด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกของไทยอยู่นอกพื้นที่ชลประทานถึง 78% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรม และส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรให้มีแนวโน้มลดลง ดังนั้นภาคการเงินจึงเป็นอีกหนึ่ง Key enabler สำคัญในการช่วยปลดล็อคความเสี่ยง

 

5772 KT Compass05

 

          2) สถาบันการเงินในต่างประเทศและไทย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เริ่มตื่นตัวในเรื่อง Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารมากขึ้น เช่น Rabo Bank ธนาคารผู้นำด้านเกษตรและอาหาร ได้มีโครงการความร่วมมือชื่อว่า กองทุน Climate Resilient Agribusiness for Tomorrow หรือ CRAFT ที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากปัญหาสภาพอากาศทั้งในแง่ของการสนับสนุนเงินทุนสินเชื่อสำหรับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน รวมถึงช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสินค้าเกษตร เช่น ความร่วมมือระหว่าง Rabo bank และ DFCU Bank จากประเทศยูกันดาที่ได้มีการนำเสนอ Green Finance Solution ให้กับเกษตรกรในการปลูกทานตะวันเพื่อสกัดน้ำมันจำนวน 6,500 ราย เป็นต้น[3]

          สำหรับไทยหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการส่งเสริมและพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดตั้งกลุ่มทำงานเพื่อการเงินที่ยั่งยืนและได้เผยแพร่แนวทางการเงินที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการทำงานของภาคการเงินในการขับเคลื่อนการเงินที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานโอกาสการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในประเทศไทย ซึ่งสำรวจถึงพันธบัตรสีเขียวและเครื่องมือการเงินอื่นๆ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อสภาพอากาศและโอกาสการลงทุนที่สามารถสนับสนุนประเทศไทยในการบรรลุเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของไทย ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

          ตัวอย่างโครงการ Green Finance ของไทย อาทิ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์จากยางพารา ได้ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการด้านการป้องกันและจัดการมลพิษ โครงการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โครงการด้านการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างยั่งยืน และโครงการด้านการขนส่งที่สะอาด

          นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อด้านเกษตรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เช่น ธนาคารกรุงไทยที่เปิดตัวโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลด PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

 

          ความท้าทายสำหรับการผลักดัน Green Finance ในภาคเกษตรและอาหารมีอะไรบ้าง?

          ความไม่พร้อมในการเข้าสู่ตลาด Green Finance ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อาทิ เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรสีเขียว รวมไปถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่เกษตรสีเขียว นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศกําลังพัฒนาส่วนใหญ่ทำฟาร์มขนาดเล็กยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง และมีความเป็นไปได้ยากที่ภาคเกษตรจะสามารถเข้าถึงทางการเงินทุนสําหรับการปรับตัวและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เงินทุนส่วนใหญ่ของ Green Finance จะมุ่งไปในภาคพลังงานเป็นหลัก 

          การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ในภาคเกษตรและอาหารยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยมีความรู้ความเข้าใจในด้านข้อมูลทางการเงินค่อนข้างจำกัด ประกอบกับไม่มีหลักประกันที่เพียงพอต่อการลดความเสี่ยงและการเข้าถึงเงินทุน โดย The Initiative for Smallholder Finance ชี้ว่า ความต้องการทางการเงินของเกษตรกรรายย่อยในละตินอเมริกา แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 210 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 

 

          แนวทางและข้อเสนอแนะ ในการผลักดัน Green Finance ในภาคเกษตรและอาหาร ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

          Government-ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลควรมีส่วนสำคัญในการผลักดัน Green Finance ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ได้มีการจัดตั้งองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) และหน่วยงานกำกับดูแลทาง
การเงิน ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของสิงคโปร์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสถาบันการเงินและภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเงินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม[4] นอกจากนี้ ธนาคารกลางของเยอรมัน (Deutsche Bundesbank) ได้จัดทำ Data Hub จัดตั้งขึ้นในปี 2563 ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างโปร่งใสและเข้าถึงง่าย เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการนำไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้หลากหลาย[5]

          Reward-การสร้าง Incentive ในการ adoption สู่ Green Finance ยกตัวอย่างเช่น ภาครัฐของบราซิลได้จัดตั้งโครงการ Plano Safra ในปี 2566 เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรและอาหาร โดยสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ (Renovagro) ดอกเบี้ยต่ำที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล สำหรับการจัดหาเงินทุน Green Finance มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรและปศุสัตว์[6] เช่นเดียวกับ ภาครัฐของอินโดนีเซียจัดตั้งโครงการอุดหนุน Green Finance เพื่อลดต้นทุนและผลักดันการเติบโตของ Green Finance โดยภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างหน่วยงานภายนอกมาประเมินว่าหุ้นกู้นี้เข้าเกณฑ์ Green Finance หรือไม่[7]

          Educate-การสร้างองค์ความรู้ในเรื่อง Green Finance ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในสิงค์โปร์ที่มีการผลักดันในเรื่องการสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้ โดยมีการจัดตั้ง Singapore Green Finance Centre (SGFC) เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่ยั่งยืน เพื่อดึงดูดการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดรับกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ[8] นอกจากนี้ SGFC ยังมีการจัดการอบรม สัมมนา เพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการเงินสีเขียวให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงสถาบัน
การศึกษาและธนาคารต่างๆ อีกด้วย[9]

          Engage-การสร้าง Commitment และเป้าหมายร่วมกัน โดยภาครัฐ หน่วยงานกำกับ หรือภาคการเงิน มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและสร้างเป้าหมายร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ Green Finance เช่น ภาครัฐของอังกฤษได้ตั้งเป้าหมายสำหรับ Green Finance ที่มุ่งเน้นฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในภาคเกษตรและอาหารให้มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านปอนด์ต่อปี ภายในปี 2573[10]นอกจากนี้ HSBC สนับสนุนการจัดหาเงินทุนและการลงทุนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนต่ำมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงภาคเกษตรและอาหารด้วย และตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนลูกค้าด้วยเงินทุนและการลงทุนระหว่าง 750 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573[11]

          Network-สร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ภาครัฐสามารถกำหนดมาตรฐานกลางและดำเนินนโยบายได้ตรงจุดและสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ ได้ และภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้อย่างทัดเทียม นอกจากนี้ ภาคการเงินมีความพร้อมในการจัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินการของภาคธุรกิจต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้ประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการพื้นฐานที่มีการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต ตามแนวทางของนโยบายการเงินที่ยั่งยืน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 17.5 พันล้านยูโรในกองทุน Just Transition Fund และการก่อตั้ง Climate pact เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ทั้งนี้ ภาคการเงินในสหภาพยุโรปก็ได้ให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรและตราสารทุนอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ[12]

 

 

[1] อ้างอิงจาก การเงินเพื่อความยั่งยืน (bot.or.th)

[2] อ้างอิงจาก Green Financing | UNEP - UN Environment Programme

[3] อ้างอิงจาก Climate Resilient Agribusiness for Tomorrow

[4] Singapore’s green finance efforts: ECGI Blog

[5] The Bundesbank's Sustainable Finance Data Hub

[6] Comparison study of Chinese and Brazilian Agriculture Criteria

[7] Barriers and solutions to green bond issuance in Indonesia

[8] Singapore Green Finance Centre

[9] SMU Media Release - SGFC Launches Sustainable Finance Programme

[10] The Green Finance Strategy and Nature Markets Framework: what they mean for you

[11] HSBC Launches Net Zero Transition Plan - ESG Today

[12] จับตาทิศทางการรับมือกับวิกฤติโลกร้อนของสหภาพยุโรป, กรมยุโรป

 

 

5772

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!