หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov สุริยะ4


รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของหน่วยรับงบประมาณ

          2. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณนำรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมายไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยสำนักงบประมาณจะขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นระยะเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2567 

          ทั้งนี้ คำขอรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท [แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ จำนวน 24,400 ล้านบาท และ (2) รายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท] โดยมีแหล่งที่มาของเงิน ประกอบด้วย (1) รายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท และ (2) งบประมาณขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท 

          สาระสำคัญ 

          ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 นั้น เพื่อดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงบประมาณขอเสนอ ดังนี้

          1. หน่วยรับงบประมาณ เสนอคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด รวมคำขอทั้งสิ้น จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ สำนักงบประมาณได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็น ความพร้อมของหน่วยรับงบประมาณ และความสอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงระดับฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย ดังนั้น การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังกล่าว จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการใช้จ่ายให้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ได้กำหนดคุณสมบัติกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นผู้มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน สัญชาติไทย มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ตามวัตถุประสงค์และสอดคล้องกับสถานการณ์ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเป้าหมายในโครงการ Digital Wallet ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว

          2. วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

          วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จํานวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จํานวน 417,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ประกอบด้วย 

              2.1 โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้

                    (1) รายจ่ายประจำ จำนวน 24,400 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายประจำตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 2,540,468.6 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายประจำ จำนวน 2,564,868.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 162,328.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.2 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.4

                    (2) รายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 118,200.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.7

              2.2 รายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท จะทำให้มีรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,797,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 307,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

              2.3 งบประมาณขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับประมาณการขาดดุล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ จำนวน 693,000 ล้านบาท จะมีการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 805,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 110,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 และคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 4.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

          3. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สรุปดังนี้

              3.1 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นกลุ่มงบประมาณรายจ่ายงบกลาง (1 รายการ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของวงเงินงบประมาณ

              3.2 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จำนวน 142 ประเด็น ตามนโยบายระยะสั้น การสร้างรายได้ นโยบาย Digital Wallet วงเงินรวมทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของวงเงินงบประมาณ

              3.3 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 122,000 ล้านบาท

          4. การยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ในส่วนของคำแนะนำของคณะกรรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นระยะเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2567 ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อประโยชน์สำคัญของประเทศเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 สำนักงบประมาณจึงขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567

 

 

6564

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!